กอทิกอังกฤษตอนต้น หรือ กอทิกแลนเซ็ท ของ สถาปัตยกรรมกอทิกแบบอังกฤษ

มหาวิหารซอลสบรี (นอกจากหอและยอด) เป็นแบบกอทิกอังกฤษตอนต้นทั้งหมด ที่ใช้หน้าต่างแลนเซ็ท (Lancet window) โดยตลอดและไม่มีสิ่งตกแต่งตัวสถาปัตยกรรมและส่วนประกอบเช่นเดียวกับสิ่งก่อสร้างแบบโรมาเนสก์ และไม่มีการใช้ลวดลาย (tracery) ที่มาใช้กันในสมัยกอทิกต่อมาหน้าต่างแลนเซ็ทที่ไม่มีการแบ่งเป็นช่อง ๆ ภายในแต่และหน้าต่างและไม่มีซี่หินตกแต่งอย่างสมัยต่อมา แต่ใช้การนำมาเรียงกันเช่นเรียงกันเป็นห้าบานบนผนังทางด้านเหนือของแขนกางเขนที่เรียกว่า “พี่น้องห้าสาว” ที่มหาวิหารยอร์ค สังเกตความใหญ่โตของหน้าต่างได้จากชายที่เดินผ่านที่มุมล่างขวาของหน้าต่าง

“กอทิกอังกฤษตอนต้น” รุ่งเรืองระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 12 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 13 ตามที่กำหนดโดยเซอร์นิโคลัส เพฟเนอร์ (Nikolaus Pevsner) หรือระหว่าง ค.ศ. 1189 ถึง ค.ศ. 1307 ตามที่กำหนดโดยทอมัส ริคแมนผู้กำหนดช่วงเวลาโดยใช้รัชสมัยของพระมหากษัตริย์เป็นหลัก

ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 สถาปัตยกรรมกอทิกอังกฤษตอนต้นก็เข้ามาแทนที่สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ หรือสถาปัตยกรรมนอร์มัน และในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 ลักษณะนี้ก็วิวัฒนาการไปเป็น “กอทิกตกแต่ง” ที่รุ่งเรืองไปจนกระทั่งถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 แต่การเปลี่ยนแปลงค่อยเป็นค่อยไปซึ่งบางครั้งก็ทำให้ออกมาเป็นสถาปัตยกรรมคาบระหว่างสองสมัย เมื่อรสนิยมทางสถาปัตยกรรมเปลี่ยนไปบางครั้งก็จะมีการใช้ลักษณะใหม่เคียงข้างกับลักษณะเก่าโดยเฉพาะการก่อสร้างใหญ่ ๆ เช่นคริสต์ศาสนสถานเช่นมหาวิหาร ที่เป็นสิ่งก่อสร้างที่มักจะใช้เวลานานในการก่อสร้าง ฉะนั้นความสามารถในการบอกได้ว่า “ลักษณะคาบสมัย” (transitional phase) จึงเป็นสิ่งสำคัญ

แม้ว่าจะเรียกกันว่า “กอทิกตอนต้น” แต่อันที่จริงแล้วเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่มาจากบริเวณปารีสก่อนที่จะเข้ามาแพร่หลายในอังกฤษ และเดิมเรียกกันว่าสถาปัตยกรรม “แบบฝรั่งเศส” บริเวณในสิ่งก่อสร้างที่ใช้การก่อลักษณะนี้เป็นครั้งแรกคือในบริเวณร้องเพลงสวดของมหาวิหารแซงต์เดอนีส์ที่ได้รับการสถาปนาในปี ค.ศ. 1144 แต่ก่อนหน้านั้นก็ได้มีการใช้ลักษณะการก่อสร้างแบบกอทิกบ้างแล้วในอังกฤษที่มหาวิหารเดอแรมที่รวมลักษณะโรมาเนสก์เข้ากับลักษณะก่อนกอทิก

เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1175 กอทิกอังกฤษตอนต้นก็ใช้กันอย่างทั่วไปหลังจากการสร้างบริเวณร้องเพลงสวดของมหาวิหารแคนเตอร์บรีเสร็จโดยวิลเลียมแห่งเซนส์ (William of Sens)

องค์ประกอบของกอทิกตอนต้น

ลักษณะสำคัญที่สุดของการวิวัฒนการของสถาปัตยกรรมกอทิกอังกฤษตอนต้นคือโค้งแหลมที่เรียกกันว่า “แลนเซ็ต” (lancet) โค้งแหลมใช้กันโดยทั่วไปในตัวสิ่งก่อสร้างไม่แต่จะเป็นการสร้างช่องทางเดินกลาง หรือซุ้มโค้ง (arcade) แต่ยังรวมทั้งประตูและหน้าต่าง หน้าต่างในยุคนี้ยังคงมีลักษณะแคบเมื่อเทียบกับความสูงและยังไม่มีการใช้ลวดลายตกแต่ง (tracery) ฉะนั้นบางครั้งลักษณะสถาปัตยกรรมในช่วงนี้จึงเรียกว่า “กอทิกแลนเซ็ต” หรือ “กอทิกแหลม” (First Pointed) โดยทั่วไปแล้วโค้งที่ใช้ก็จะได้สัดส่วน แต่ “โค้งแลนเซ็ต” มักจะเป็นโค้งที่แหลมจัดเช่นที่พบในการก่อสร้างซุ้มโค้งแหลมในบริเวณมุขตะวันออกของแอบบีเวสต์มินสเตอร์

หน้าต่างแลนเซ็ตมักจะแบ่งเป็นกลุ่ม เช่นกลุ่มสองบานคู่ที่เห็นได้ในมหาวิหารซอลสบรีตามแนวช่องทางเดินข้าง หรือกลุ่มสามบนแนวหน้าต่างชั้นบน แต่มหาวิหารยอร์คมีหน้าต่างแลนเซ็ตถึงห้าบานเรียงกันทางผนังทางด้านเหนือของแขนกางเขนที่เรียกว่า “พี่น้องห้าสาว” (Five Sisters) แต่ละบานสูงห้าสิบฟุต และกระจกบนบานหน้าต่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ยังคงเป็นกระจกประดับจากสมัยโบราณ

ช่างก่อสร้างโรมาเนสก์มักจะใช้โค้งครึ่งวงกลมแต่บางทีก็ใช้โค้งที่แหลมขึ้นไปเล็กน้อยเช่นที่มหาวิหารเดอแรมในการสร้างช่องทางเดินกลาง เมื่อเทียบกับโค้งครึ่งวงกลมของโรมาเนสก์แล้วโค้งแหลมของกอทิกตอนต้นก็ดูงดงามกว่า นอกจากนั้นก็ยังมีประโยชน์ในการช่วยแบ่งรับน้ำหนักจากผนังหินเหนือบานหน้าต่าง ซึ่งเป็นผลทำให้สามารถสร้างหน้าต่างให้มีช่วงสูงและกว้างขึ้นกว่าเดิมได้ และใช้เสาที่แคบกว่าเดิม

แทนที่จะเป็นสิ่งก่อสร้างที่เทอะทะหรือคอลัมน์ที่มีลักษณะหนาหนัก คอลัมน์ของสมัยกอทิกตอนต้นมักจะเป็นกอหรือกลุ่มคอลัมน์ (ที่ล้อมคอลัมน์กลางหรือเสาอิง) ที่เพรียว บางครั้งก็จะมีการสลับสีระหว่างคอลัมน์ที่อยู่ในกอเดียวกันเป็นสีอ่อนและสีแก่ที่ทำด้วยหินอ่อนเพอร์เบ็ค (Purbeck Marble) และตอนบนของกลุ่มคอลัมน์เป็นบัววงแหวนรัดรอบเสา

ลักษณะที่แตกต่างอีกอย่างหนึ่งของกอทิกตอนต้นคือการใช้บัวตกแต่งที่กลวงที่ทำให้ดูลึกขึ้นแทนที่การตกแต่งโค้งด้วยลายหยัก (dog-tooth) รอบโค้ง และการใช้แป้นหัวเสา (abacus)

การใช้โค้งแหลมทำให้สามารถลดความเทอะทะของกำแพงลงได้ ซึ่งทำให้สร้างหน้าต่างได้กว้างขึ้นและสร้างให้ใกล้กันมากขึ้นกว่าเดิมได้ สถาปนิกสามารถสร้างสิ่งก่อสร้างที่ทำให้รู้สึกเปิดโล่ง, เบา และสง่างามกว่าเดิม กำแพงที่สูงขึ้นและเพดานหินโค้งมักจะรับด้วยค้ำยันแบบปีก ที่เป็นโค้งที่กางออกไปจากตัวสิ่งก่อสร้าง ที่ใช้ในการช่วยกระจายน้ำหนักของตัวสิ่งก่อสร้างหลักออกไปยังค้ำยัน ที่ตั้งอยู่ภายนอกตัวอาคาร

โค้งของกำแพงตกแต่งและระเบียงบางครั้งจะเป็นโค้งแหลมเดี่ยว บางครั้งก็จะมีวงกลมที่ตกแต่งด้วยจิกสามกลีบ (trefoil), จิกสี่กลีบ (quatrefoil) ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของลวดลายสถาปัตยกรรม (tracery) ของระเบียงและหน้าต่างกุหลาบที่สร้างบนผนังของแขนกางเขนหรือช่องทางเดินกลางเช่นที่เห็นที่มหาวิหารลิงคอล์น (ค.ศ. 1220) นอกจากนั้นก็ยังมีการตกแต่งด้วยด้วยใบไม้ต่าง ๆ ตามหัวเสาหรือเลยขึ้นไปถึงปุ่มหินบนเพดาน และอื่น ๆ เช่นการตกแต่งบริเวณสามเหลี่ยมรอบโค้ง (spandrel) ของช่องทางเดินกลาง ซึ่งเป็นการตกแต่งที่พบในแอบบีเวสต์มินสเตอร์

โดยสรุปแล้ว “กอทิกอังกฤษตอนต้น” เป็นลักษณะที่เรียบง่ายไม่รุงรังและเน้นความสูงของสิ่งก่อสร้างราวจะสร้างขึ้นไปให้ถึงสวรรค์

ตัวอย่างสำคัญ

สถาปัตยกรรมกอทิกอังกฤษตอนต้นเป็นลักษณะการก่อสร้างที่มักจะใช้ในการสร้างแอบบีซิสเตอร์เชียน (ทั้งในอังกฤษและฝรั่งเศส) เช่นที่แอบบีวิทบีย์ (Whitby Abbey) หรือ แอบบีรีวอลซ์ (Rievaulx Abbey) ในมณฑลยอร์คเชอร์ การที่มหาวิหารซอลสบรีสร้างรวดเดียวเสร็จระหว่างปี ค.ศ. 1200 ถึงปี ค.ศ. 1275 ทำให้ลักษณะสถาปัตยกรรมแทบจะไม่มีการผสมกับลักษณะอื่นนอกไปจากการสร้างด้านหน้าและหอแหลมที่มาสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างหนึ่งคือซุ้มกาลิลีที่มหาวิหารอีลี หรือช่องทางเดินกลางของมหาวิหารเวลล์ส ที่สร้างระหว่าง ค.ศ. 1225 ถึง ค.ศ. 1240 หรือด้านหน้าด้านตะวันตกของมหาวิหารปีเตอร์บะระห์ หรือที่มินส์เตอร์เบเวอร์ลีย์ และแขนกางเขนด้านใต้ของมหาวิหารยอร์ค

ใกล้เคียง

สถาปัตยกรรมบารอก สถาปัตยกรรมอาสนวิหารในยุโรปตะวันตก สถาปัตยกรรมมหาวิหารสมัยกลางในอังกฤษ สถาปัตยกรรมกอทิกแบบอังกฤษ สถาปัตยกรรมอินเดีย สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ สถาปัตยกรรมไทย สถาปัตยกรรมมาซิโดเนียเหนือ สถาปัตยกรรมกอทิก สถาปัตยกรรมแบบอิตาลี

แหล่งที่มา

WikiPedia: สถาปัตยกรรมกอทิกแบบอังกฤษ http://www.britainexpress.com/architecture/decorat... http://www.britainexpress.com/architecture/early-e... http://www.britainexpress.com/architecture/perpend... http://www.btinternet.com/~timeref.htm http://www.hayquesufrir.com http://cal.bemidji.msus.edu/english/donovan/sabbjo... http://commons.wikimedia.org/wiki/Church_architect... http://commons.wikimedia.org/wiki/File:Church_comp... http://en.wikipedia.org/wiki/File:Ballflower_Glouc... http://en.wikipedia.org/wiki/File:Dog-tooth_orname...